รถชน ต้องทำอย่างไร ไขความลับประกันภัย รู้ไว้ไม่เสียสิทธิ์

ทำความเข้าใจ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ มีกี่แบบ?
นายสมชาย สุดเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด อธิบายถึงประเภทของประกันภัยรถยนต์ เพื่อให้หลายคนได้ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า การทำประกันรถยนต์มีอยู่ 2 ประเภท คือ 
ประเภทที่ 1 การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เรียกย่อๆ ว่า พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัย ไม่เฉพาะแค่คนใช้ท้องถนนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึง ทุกคน ที่ได้รับอันตรายจากรถ จึงหมายรวมถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณีและบุคคลที่สามทั้งหมด เป็นหลักประกันพื้นฐานให้กับคนไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ท้องถนน ที่เป็นภาระของเจ้าของหรือผู้ใช้รถต้องจัดทำไว้ อย่างไรก็ดี การคุ้มครองของ พ.ร.บ. นั้น คุ้มครองในมูลค่าพื้นฐานและคุ้มครองเฉพาะด้านชีวิตและร่างกายของคนเท่านั้น



ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลา สามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้

 
ผู้ประสบภัยจากรถ มีสิทธิประโยชน์ตามวงเงิน ดังนี้
1.
กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
2.
กรณีทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ โดยนิยามของ พ.ร.บ. กำหนดลักษณะของการสูญเสียอวัยวะตั้งแต่ 1 ข้อนิ้วขึ้นไป เช่น นิ้วขาด ครึ่งข้อ ไม่ถือเป็นการสูญเสียอวัยวะ กรณีนิ้ว นิ้วใดๆ ขาด 1 ข้อ หรือ สูญเสียมือทั้งมือ แขนทั้งแขน เบิกใช้สิทธิ์กรณีทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ ได้จำนวน 35,000 บาทต่อคน
3.
กรณีถึงแก่ชีวิต เบิกจ่ายเป็นค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ สรุปวงเงินคุ้มครองกรณีค่าเสียหายเบื้องต้น คุ้มครองสูงสุด 65,000 บาทต่อคน เนื่องจากผู้ประสบภัยจากรถ อาจได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือสูญเสียอวัยวะ และอาจถึงแก่ชีวิตได้



ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิ์จากคู่กรณีได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำให้เสียเวลา


ประเภทที่ 2 การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance) ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น มีให้เลือกหลายแบบ ซึ่งแบ่งตามประเภทของความเสี่ยงที่ผู้ซื้อต้องการแบกรับไว้เอง และส่วนที่ต้องการโอนไปให้บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้ โดยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้
ประกันรถยนต์ประเภท 1 (ชั้น 1) เรียกได้ว่า ครอบคลุมทั้งหมดที่เกี่ยวกับภัยทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นกับรถของเรา เหนือขึ้นไปกว่าประกันรถยนต์ประเภท 2 เพราะรวมสิทธิ์คุ้มครองความเสียหายในรถ กรณีเกิดอุบัติเหตุด้วย ไม่ว่าจะเกิดจากคู่กรณีหรือไม่มี เช่น ขับรถชนทางเท้าหรือฟุตปาท เป็นต้น ทำให้หมดห่วงในเรื่องการใช้รถบนท้องถนน เพราะโอนความเสี่ยงที่จะเสียหายเกือบทั้งหมดให้กับบริษัทประกันภัย
ประกันรถยนต์ประเภท 2 (ชั้น 2) คือ ประกันภัยรถยนต์ที่เหนือขึ้นไปจากประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 เนื่องจากประกันรถยนต์ประเภท 3 คุ้มครองเฉพาะทรัพย์สินบุคคลภายนอก แต่ประกันประเภท 2 จะคุ้มครองทรัพย์สินหรือรถของเราด้วย แต่จะคุ้มครองเฉพาะกรณีรถเกิดไฟไหม้หรือระเบิด หรือ รถสูญหายเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ เหมาะสำหรับผู้กลัวว่ารถจะหาย
ประกันรถยนต์ประเภท 3 (ชั้น 3) คือ คุ้มครองเรื่องทรัพย์สินของคนอื่น ได้แก่ รถยนต์ที่เสียหายของฝ่ายคู่กรณี และทรัพย์สินของบุคคลที่สาม ที่เราทำให้เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกรณีนี้ เพื่อความวางใจว่า หากเราทำทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย บริษัทประกันจะรับผิดชอบแทนเรา ส่วนความเสียหายของรถเรา ต้องดำเนินการจัดซ่อมรถเอง 


ประกันประเภท 2 จะคุ้มครองเฉพาะกรณีรถเกิดไฟไหม้หรือระเบิด

กรณีรถประสบเหตุ และมีประกันชั้น 1 สิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะได้ คือ...?
ขณะที่ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยให้ฟังว่า กรณีที่ผู้เสียหายมีประกันชั้น 1 เมื่อรถประสบอุบัติเหตุ สิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะได้ คือ 1. ค่าซ่อมรถหรือค่าอะไหล่ ทางบริษัทประกันจะดำเนินการจัดซ่อมให้ทั้งหมด 2. การชดใช้คู่กรณี ในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิด ประกันภัยจะรับผิดชอบแทน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือชีวิตและร่างกายของคู่กรณี ส่วนกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก บริษัทประกันจะดำเนินการจัดซ่อมรถให้ โดยไปเรียกร้องสิทธิ์กับคู่กรณีเอง

ในส่วนของความเสียหายของรถนั้น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะรับผิดชอบในการดำเนินการจัดซ่อมความเสียหายของรถให้ทั้งหมด แต่เนื่องจากว่าระหว่างการซ่อมรถ เราสามารถเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมจากคู่กรณีได้ เช่น ค่าทำให้เสียเวลา ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการขาดรถ ค่าเสื่อมสภาพที่อาจจะมี เช่น บริษัทไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่ แต่ใช้วิธีซ่อมแทน รวมถึงรายได้ที่ขาดหายไปเพราะขาดรถใช้ประกอบอาชีพ เช่น ขับแท็กซี่ ใช้ในการรับจ้าง เป็นต้น ซึ่งวงเงินที่เรียกจะขึ้นอยู่กับประเภทรถ การเจรจาตกลง และรายได้ตามความเป็นจริง


กรณีขับรถแท็กซี่ สามารถเรียกสินไหมค่าขาดรายได้จากการใช้รถได้ ตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริง

รู้ไว้ได้ไม่เสียสิทธิ์!! เสื่อมราคา ค่าเสียเวลา หรือค่าตกใจ เรียกร้องได้หรือไม่
นายสมชาย แสดงทรรศนะอีกว่า โดยทั่วไปแล้ว สิทธิประโยชน์เหล่านี้ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิ์จากคู่กรณีได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำให้เสียเวลา รวมถึงสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่จะสามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของคู่กรณีด้วย 
เพราะฉะนั้น สิทธิประโยชน์ที่เราสามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ ถือว่าเป็นสิทธิโดยพื้นฐานที่คนทั่วไปรู้อยู่แล้ว ว่า การโดนละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมาย สามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ของตัวแทนประกันที่จะต้องแจ้งสิทธิ์ในส่วนนี้” ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทน แสดงทรรศนะ
นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากคู่กรณี ทั้งเรื่องค่าเสื่อมราคา หรือสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม กรณีนี้ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดเอง เนื่องจากสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ ไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์เรียกร้องในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นหากใครอ้างว่าไม่ทราบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ก็อาจจะต้องสูญเสียสิทธิ์ไป
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ทำประกันต้องรู้จากบริษัทประกัน คือ เงื่อนไขคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ว่า หากเราตกเป็นผู้เสียหาย สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยมีอะไรบ้าง และสิทธิ์เรียกร้องจากคู่กรณีได้มีอะไรบ้าง เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลาจากการใช้รถ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทประกันไม่สามารถไปดำเนินการเรียกร้องแทนผู้เสียหายได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขภายใต้กรมธรรม์ที่จะคุ้มครอง และที่สำคัญก่อนทำประกันภัย ควรพิจารณาความคุ้มครองให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้รถด้วย” นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าว

นอกจากนี้ สำหรับการเรียกสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม สามารถเรียกได้ในวงเงินเท่าไรนั้น จะต้องเป็นไปตามความสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การขาดประโยชน์จากการใช้รถ โดยต้องไปเช่ารถวันละ 1,000 บาท ก็สามารถเรียกร้องได้ตามจำนวนนั้น หรือในกรณีที่ผู้เสียหายขับรถบรรทุก ซึ่งมีรายได้ วันละ 6,000 บาท ก็สามารถเรียกไปตามจำนวนนั้น ตามความเป็นจริง โดยคู่กรณีและประกันของคู่กรณีจะต้องเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบทั้งหมด 




พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัย แต่หมายถึง ทุกคน ที่ได้รับอันตรายจากรถ

ตัวแทนประกันแจ้งไม่หมด เป็นเหตุลูกค้าเสียสิทธิ์ ถือว่าผิดหรือไม่?
นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ เผยว่า กรณีประสบเหตุจากรถ ผู้เสียหาย มีสิทธิ์ที่จะเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมได้ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเสียเวลา หรือรายได้ที่ขาดหายไป จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ เช่น ในระหว่างซ่อมรถ ผู้เสียหายจะต้องใช้บริการแท็กซี่ไปทำงานแทน ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องจากคู่กรณีได้ จนรถซ่อมเสร็จ ส่วนเรื่องของสภาพจิตใจ เช่น ค่าตกใจหรือค่าทำขวัญนั้น ไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากยังไม่ถูกยอมรับในชั้นศาล

ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า การเรียกสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม จะสามารถเรียกอยู่ในวงเงินเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น กรณีขับรถแท็กซี่ ซึ่งสามารถหารายได้ต่อวัน 1,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือวันละ 300 บาท เพราะฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่คนขับแท็กซี่คนนี้ จะสามารถเรียกจากคู่กรณีได้ คือ วันละ 300 บาท จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ
เพราะฉะนั้น กรณีที่ตัวแทนบริษัทประกันไม่แจ้งถึงสิทธิประโยชน์เหล่านี้ให้ลูกค้าทราบทั้งหมด ทำให้ผู้เสียหายอาจเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ กรณีนี้ถือว่าบริษัทประกันมีความผิดหรือไม่
เลขาธิการสภาทนายความ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า โดยทั่วไปสิทธิตามสัญญาในประกันภัยหรือกรมทัณฑ์ เป็นประกันวินาศภัย ซึ่งสามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์หรือค่าเสียหายได้ ตามความจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทนประกันภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายหรือแจ้งถึงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ ให้ลูกค้าทราบทั้งหมด เนื่องจากอาจถือว่า ในสัญญาประกันภัยหรือกรมธรรม์ มีข้อความอธิบายหรือระบุชัดเจนอยู่แล้ว 
เพราะฉะนั้น หากลูกค้าไม่ได้รับรายละเอียดในการอธิบายพันธะสัญญาตามกรมทัณฑ์ให้เข้าใจอย่างชัดเจน จนทำให้ลูกค้าเสียสิทธิประโยชน์ กรณีนี้ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้” เลขาธิการทนายความ ระบุ
อย่างไรก็ตาม สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 95 ระบุว่า บริษัทใดจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องบอกให้แจ้งในการยื่นรายการ หรือให้คำชี้แจงตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ประกันรถยนต์ชั้น 2 คุ้มครองเฉพาะกรณีรถเกิดไฟไหม้หรือระเบิด หรือ รถสูญหายเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ

ประกันภัย ความลับที่ไม่อาจบอกคุณ แต่คุณต้องรู้! 
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะรู้จากบริษัทประกัน คือ 1. ในสัญญาประกันภัยมีข้อห้ามอะไรบ้าง เช่น กรณีประสบเหตุจากรถ แล้วพบว่า คนขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถขณะเมา หรือกรณีที่คนขับไม่ใช่เจ้าของรถหรือลูกจ้างของเจ้าของรถ กรณีเหล่านี้ บริษัทประกันภัย อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งจะเรียกว่า ข้อยกเว้นที่บริษัทประกันไม่รับผิดชอบ และ 2. ต้องรู้ว่า สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยมีอะไรบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาจากการใช้ประโยชน์จากรถในระหว่างซ่อม รวมถึงจัดหาทนายความให้ กรณีที่มีคดีอาญา ทางบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบโดยการประกันตัวให้ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันทั่วไปที่ทางกรมทัณฑ์ประกันภัยกำหนดไว้ 
เครดิต  ไทยรัฐออนไลน์